Pages

Monday, January 20, 2014

นิทานเวตาล เรื่องที่ 3 : พระเจ้าศูทรกะ กับ ขุนนางวีรพล


            พระวิกรมาทิตย์ ครั้นเวตาลหลุดลอยไปแล้ว ได้สติก็เสด็จหันกลับพาพระราชบุตรทรงดำเนินกลับไปยังต้นอโศก ครั้นถึงก็เสด็จปีนขึ้นไปปลดเวตาลลงมาใส่ลงในย่ามอย่างเก่า เสด็จออกทรงดำเนินไปได้หน่อยหนึ่ง เวตาลก็เล่าเรื่องซึ่งกล่าวว่าเป็นเรื่องจริงอีกเรื่องหนึ่งดังนี้

            ในกาลก่อนมีเมืองงามชื่อ โศภาวดี พระราชาทรงนาม รูปเสน มีข้าใช้ใกล้ชิดชื่อ สุรเสน เป็นผู้มีกำลังแลปัญญา ว่องไวชำนาญในการรบยิ่งนัก สุรเสนคนนี้แต่เดิมก็เป็นทหารธรรมดาแต่ด้วยความกล้าแลความฉลาด ปฏิบัติการในหน้าที่หาผู้เสมอมิได้ จึงได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปโดยลำดับ ในที่สุดเป็นแม่ทัพในกรุงโศภาวดี บ้านใกล้เมืองเคียงพากันกล่าวเลื่องชื่อลือฤทธิ์ทั่วไป

            ฝ่ายสุรเสนเมื่อได้รับตำแหน่งแม่ทัพแล้ว ก็มิได้เว้นว่างการงานในหน้าที่เหมือนอย่างข้าราชการบางจำพวก ซึ่งเมื่อพระราชาทรงแต่งตั้งให้เป็นใหญ่แล้วก็ละเว้นราชการ เพื่อจะได้มีเวลาทำพลีกรรม สนองคุณเทพยดาที่บันดาลให้ตนได้เป็นใหญ่
            สุรเสนเห็นว่าการบันดาลให้ตนเป็นใหญ่นั้น ถ้าจะจำแนกออกเป็นหุ้น พระราชาคงจะถือหุ้นมากกว่าผู้อื่น แลการทำพลีกรรมถวายพระราชา ก็คือการปฏิบัติราชการที่ทรงมอบหมายให้เป็นไปดังพระราชประสงค์ ส่วนเทพยดานั้นหากจะมีหุ้นอยู่บ้างก็เปรียบเหมือนหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียน แต่การบวงสรวงอาจมีได้บ้างในเวลาที่ว่างราชการ

            กล่าวการปฏิบัติหน้าที่ สุรเสนเป็นผู้กล้าใช้ความเห็นของตนแลแบบฉบับการสงครามซึ่งบัณฑิตแลพราหมณ์ผู้มิได้เป็นนักรบ บังอาจแต่งขึ้นไว้เป็นตำราใช้สืบกันมาแต่โบราณนั้น สุรเสนแม่ทัพนำมาใช้เป็นหลักแต่ที่เห็นใช้ได้ แลใช้ความคิดแลความชำนาญของตนเป็นบรรทัดทางเดิน รู้จักเลือกที่รบ รู้จักใช้ทหาร รู้จักรักษาลำเลียงของตนในขณะที่ตัดลำเลียงข้าศึก เมื่อเห็นธนูที่ทหารใช้อยู่นั้นใช้ได้ไม่ว่องไวก็คิดเปลี่ยนเสียใหม่ก่อนที่จะต้องเปลี่ยนเพราะแพ้ เมื่อเห็นด้ามดาบจับไม่ถนัด แม้ด้ามจะได้เคยใช้กันมาแล้วตั้งพันปี แลคนทั้งหลายคิดว่าเป็นด้ามดีที่สุดเพราะอายุ สุรเสนแม่ทัพก็กล้าเปลี่ยนเสียไม่เกรงพวกไม่ใช่นักรบคือบัณฑิตแลพราหมณ์ติเตียนว่าไม่ถูกต้องตามคัมภีรศาสตร ์ อนึ่ง สุรเสนได้จัดทหารถือศรไฟขึ้นหมู่หนึ่งซึ่งเมื่อใช้ต่อสู้ทัพช้างของข้าศึกก็มีชัยรอบข้าง แม้พระอังคารผู้เป็นเจ้าแห่งการรบก็ต้องชมว่าดี

            วันหนึ่งสุรเสนแม่ทัพนั่งว่าราชการอยู่หน้าจวน มีทนายเข้าไปบอกว่า มีชายถืออาวุธคนหนึ่งมาจะขอเข้ารับราชการ แม่ทัพได้ทราบจึงพาตัวเข้าไปซักถามตามธรรมเนียม
            ชายผู้นั้นแสดงตัวว่า ชื่อ วีรพล เป็นคนชำนาญอาวุธ มีชื่อเสียงว่ากล้าแลซื่อสัตย์ปรากฏทั่วไปในภารตวรรษ (คืออินเดีย) สุรเสนแม่ทัพเคยได้ยินคนชมตัวเองดังนี้นับครั้งไม่ถ้วน มิได้เชื่อคำที่กล่าว แต่อยากจะแสดงให้ชายถืออาวุธนั้นรู้ตัวละอายแก่ใจว่าตนไม่รู้จักใช้อาวุธเลย จึงบอกว่าให้ชักดาบออกสำแดงความสามารถให้ปรากฏเถิด

            ฝ่ายวีรพลได้ยินดังนั้นก็นึกรู้ในใจแม่ทัพ แต่มิได้หวาดหวั่น เอามือขวาชักดาบออกแกว่งเหนือศีรษะเหมือนจักรยนต์ซึ่งหมุน ๑,๒๐๐ รอบต่อนาที มือซ้ายยื่นเหยียดออกไป มือขวาหวดด้วยดาบเต็มกำลัง ตัดเล็บนิ้วก้อยแห่งมือซ้ายขาดตกอยู่กับพื้น การตัดเล็บให้ขาดไปด้วยดาบซึ่งฟาดเต็มแรงนั้น ถ้านิ้วพลอยติดไปด้วยก็นับว่าง่ายแลนับว่าตัดเล็บสำเร็จเหมือนกัน ถ้าตัดไปทั้งมือยิ่งง่ายหนักเข้า แลการตัดเล็บก็เป็นอันได้ตัด แต่วีรพลตัดเล็บครั้งนั้น มิได้ถูกนิ้วแลเนื้อเป็นเหตุให้เลือดตกแม้แต่หยดหนึ่งเลย

            สุรเสนแม่ทัพเห็นดังนั้นก็ชอบใจ จึงสนทนากับวีรพลถึงวิธียุทธ์ วีรพลชี้แจงแสดงความเห็นมีหลักฐานมั่นคง ปรากฏว่ามิใช่แต่รอบรู้ตำราซึ่งบัณฑิตแลพราหมณ์ผู้ไม่เคยรบแต่งไว้เป็นแบบฉบับการรบ ถึงแม้ข้อบกพร่องในตำราโบราณเหล่านั้นก็รู้ด้วย เมื่อเป็นดังนั้นสุรเสนแม่ทัพก็เห็นได้ว่า วีรพลนั้นมิใช่คนสามัญเลยจึงพาเข้าเฝ้าท้าวรูปเสน ทูลให้ทราบทุกประการ

            ท้าวรูปเสนเป็นพระราชาที่คิดมากตรัสน้อย ครั้นได้ยินแม่ทัพทูลตลอดแล้ว ก็ตรัสถามวีรพลว่า "ข้าควรให้เบี้ยเลี้ยงแก่เจ้าวันละเท่าไหร่" วีรพลทูลว่า "ถ้าประทานเบี้ยเลี้ยงแก่ข้าพเจ้าเป็นทองคำวันละ ๑,๐๐๐ ทีนาระ จึงจะพอเป็นค่าใช้สอยของข้าพเจ้า" ท้าวรูปเสนตรัสถามว่า "เจ้ามีทหารมาด้วยกี่กองทัพ จึงต้องใช้ทองคำมากถึงวันละเท่านั้น" วีรพลทูลว่า ข้าพเจ้าไม่มีกองทัพมาด้วย มีแต่ครอบครัวของข้าพเจ้า ซึ่งมีจำนวนคือ ที่หนึ่งตัวข้าพเจ้า ที่สองภริยาของข้าพเจ้าคนหนึ่ง ที่สามบุตรชายคนหนึ่ง ที่สี่บุตรหญิงคนหนึ่ง ที่ห้าไม่มี"

            คนทั้งหลายที่อยู่ในที่เฝ้าได้ยินดังนั้น ต่างคนก็ยิ้มแลหัวเราะ พระราชาทรงนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วตรัสให้วีรพลออกไปจากที่เฝ้า

            เวตาลกล่าวแก่พระวิกรมาทิตย์ต่อไปว่า "พระองค์คงได้ทรงสังเกตแล้วว่า ในหมู่มนุษย์พวกพระองค์นั้น คนมากมักจะเชื่อราคาคนๆ เดียว ตามประมาณที่คนนั้นกำหนด ถ้าใครตั้งราคาตนเองสูง คนอื่นๆ คงจะพูดกันว่า "คนนี้คงจะมีคุณวิเศษอะไรสักอย่างหนึ่งซึ่งยังไม่ปรากฏแก่เรา เพราะเราเป็นผู้ไม่มีความรู้" ดังนี้ถ้าพระองค์ทรงบอกแก่คนทั้งหลายว่า พระองค์มีความกล้า มีความฉลาด พระหฤทัยดี แลแม้จะตรัสว่าพระองค์รูปงาม ไม่ช้าก็จะมีผู้เชื่อว่าจริง แลเมื่อมีคนเชื่อเสียแล้ว พระองค์จะกลับทำอย่างไรให้ปวงชนทราบได้ว่า พระองค์ไม่กล้า ไม่ฉลาด ไม่มีพระหฤทัยดี แลไม่ทรงรูปงามนั้น จะทรงทำได้ด้วยยากที่สุด อนึ่ง..."

            พระราชาเหลียวไปตรัสแก่พระราชบุตรว่า "อย่าฟังมัน อย่าฟังมัน (แล้วตรัสแก่เวตาล) นี่แน่ะ เจ้าตัวช่างพูด ถ้าคนพากันนับถือธรรมเลอะเทอะอย่างที่เจ้าว่านี้ไปด้วยกันหมด ความสงบเสงี่ยม ความปราศจากโอ้อวด ปราศจากความเห็นแก่ตัวฝ่ายเดียวแลคุณความดีอื่นๆ อีกมากมาย จะมิสูญสิ้นไปหรือ"

            เวตาลตอบว่า "ข้าพเจ้าไม่ทราบ แลไม่ใส่ใจที่จะให้คุณเหล่านั้นคงมีไปในโลก แต่ข้าพเจ้าอาจกล่าวได้ว่า ข้าพเจ้าได้เคยสิงซากศพมนุษย์มาช้านาน ได้เปลี่ยนจากศพนี้ไปอยู่ศพโน้นบ่อยๆ จนได้ความรู้สำคัญข้อหนึ่ง คือ ผู้มีปัญญาย่อมจะรู้จักตนเอง ไม่ขุ่นข้องในใจเกินไปในเวลาที่ตกอับ หรือรื่นรมย์เกินไปในเวลาที่ชะตาขึ้น เพราะรู้ตัวว่าไม่ได้ประดิษฐ์ตัวขึ้นเองยิ่งกว่าได้ประดิษฐ์เสื้อผ้าที่ไปจ้างเขาทำมาให้ ส่วนคนโง่นั้น เมื่อเอาตัวไปเทียบกับคนโง่กว่าก็ยินดีเบิกบานจนเกินเหตุ หรือเมื่อเทียบตัวเองกับคนที่โง่หย่อนกว่า ก็กระดากเดือดร้อนในใจ เพราะรู้ว่าเขาโง่น้อยกว่าตัว ความกระดากนี้ เรียกว่าความปราศจากโอ้อวด ความสงบเสงี่ยม หรือจะเรียกว่าว่ากระไรอีกก็ยังจะได้
            ส่วนตัวข้าพเจ้านั้น เมื่อได้เข้าสิงซากศพไม่ว่าจะเป็นศพชาย ศพหญิงหรือศพเด็ก ข้าพเจ้าคงจะรู้สึกว่าข้าพเจ้าควรถ่อมตัวเป็นอันยิ่ง เพราะรู้ว่าเหย้าที่อาศัยของข้าพเจ้านั้นเป็นที่สำนักของสัตวชาติที่จองหองที่สุด แลเจ้าของเดิมเพิ่งทิ้งเหย้าไปยังไม่ทันช้าเลย อนึ่ง..."

            พระราชาทรงพิโรธรับสั่งว่า "เอ็งอยากจะให้ข้าเอาตัวเอ็งฟาดลงกับพื้นดินหรือ" เวตาลบ่นอุบอิบ เป็นทำนองว่าการแสดงปัญญาให้คนโง่ฟังไม่มีประโยชน์แล้วเล่านิทานต่อไปว่า

            ท้าวรูปเสนได้ทรงฟังคำวีรพลทูลดังนั้น ก็ทรงนิ่งตรึกตรอง ตั้งปัญหาถามพระองค์เองว่า เหตุใดชายคนนี้จึงตีราคาความรับใช้ของตนแพงเช่นที่กล่าว แล้วทรงพระดำริว่า การตีราคาสูงเช่นนี้คงจะเป็นด้วยมีคุณวิเศษความดีอย่างเอก ซึ่งอาจจะเห็นได้ภายหลัง เมื่อทรงนึกดังนั้นแล้วก็นึกต่อไปว่า ถ้าประทานค่าจ้างมากมายตามที่วีรพลทูลไซร้ ความมีใจใหญ่ของพระองค์คงจะให้ผลประโยชน์แก่พระองค์ในวันหน้า

            เมื่อทรงตรึกตรองเห็นเช่นนี้ จึงรับสั่งเรียกวีรพลกลับเข้าไปหน้าพระที่นั่งแล้วรับสั่งเรียกชาวคลังมาสั่งว่า จงจ่ายทองคำให้แก่วีรพลวันละ ๑,๐๐๐ ทีนาระ แล้วตรัสให้วีรพลอยู่รับราชการต่อไป

            ฝ่ายวีรพลนั้นมีคำเล่ากันว่า เมื่อได้รับพระราชทานสินจ้างมากถึงเพียงนั้นก็ได้ใช้ทรัพย์ของตนในทางที่ดีที่สุด ในเวลาเช้าทุกวันได้เอาทรัพย์ที่ได้ในวันก่อนมาแบ่งออกเป็นสองส่วน
            ส่วนหนึ่งแจกจ่ายให้แก่พราหมณ์แลปุโรหิต ส่วนที่เหลือนั้นแบ่งออกอีกเป็นสองภาค ภาคหนึ่งแจกแก่ไวราคี คือคนขอทานซึ่งประกาศตัวว่านับถือพระวิษณุเป็นเจ้า แลสันยาสี (ผู้นับถือพระศิวะเป็นเจ้า) ซึ่งเป็นผู้มีกายอันชโลมด้วยเถ้าถ่าน แลปกปิดกายด้วยท่อนผ้าซึ่งจะมิดชิดก็ไม่มิดได้ แลพากันยื่นศีรษะซึ่งมุ่นเหมือนเชือกแน่นกันเข้าไปรับแจกที่ประตู ส่วนทรัพย์ที่ยังเหลืออยู่จากที่แจกแล้วนั้น วีรพลให้มีผู้จัดประกอบอาหารอันมีรส แลเมื่อได้เลี้ยงคนขัดสนอาหารทั้งหลายจนอิ่มหนำสำราญทั่วกันแล้ว วีรพลแลบุตรภริยาจึงกินแล้วแต่จะมีเหลือ

            การจำหน่ายทรัพย์ทุกๆ วันเช่นนี้มีคำกล่าวสืบกันมาว่าเป็นวิธีดีนัก แต่พวกที่กล่าวว่าดีนั้น พราหมณ์แลปุโรหิตคงจะเป็นผู้กล่าวนำหน้า ไวราคีแลสันยาสีเป็นพวกที่รองลงมา แลพวกยาจกที่ได้รับเลี้ยงทุกๆ วันก็คงจะกล่าวชมวิธีจำหน่ายทรัพย์ชนิดนั้นด้วย ชนพวกอื่นๆ ที่พลอยชมว่าดีไปด้วยก็จะมีบ้างดอกกระมัง แต่ที่จะเป็นวิธีดีจริงหรือไม่นั้นเป็นข้อที่น่าพิศวง

            ในเวลาค่ำคืนวีรพลถืออาวุธเข้าไปยืนอยู่ใกล้แท่นที่บรรทมทุกคืน เมื่อใดพระราชาตื่นบรรทมขึ้น ตรัสถามว่าใครอยู่ที่นั่น วีรพลก็ทูลตอบทันทีว่า "ข้าพเจ้าวีรพลอยู่นี่ ถ้ามีโองการตรัสสั่งประการใด ข้าพเจ้าพร้อมที่จะปฏิบัติตามพระราชประสงค์"
            ท้าวรูปเสนตื่นบรรทมขึ้นแลตรัสถามครั้งใด ก็ได้ทรงยินวีรพลทูลตอบเช่นนั้นเสมอจนแทบจะเบื่อ บางคราวถึงทรงอยากให้มีเหตุอันใด ที่จะได้ทรงใช้วีรพลให้เห็นความสามารถ บางคืนท้าวรูปเสนมีรับสั่งให้ทำอะไรที่แปลกที่สุดเพื่อทดลองใจ เพราะ คำโบราณย่อมกล่าวว่าจะลองใจข้าให้ใช้ทั้งในทางที่ควรแก่เวลา แลไม่ควรแก่เวลา ถ้าทำตามโดยเต็มใจ จงทราบว่าเป็นข้าที่ดี ถ้าโต้ตอบ จงไล่เสียโดยเร็ว การทดลองใจข้าด้วยประการที่กล่าวนี้ คงจะได้รู้จริงเสมอกับการทดลองใจเมียด้วยความยากจนของผัว หรือทดลองญาติแลเพื่อนด้วยขอให้ช่วยธุระ

            โดยประการที่กล่าวมานี้ วีรพลอยู่ยามรักษาพระราชาคืนยังรุ่ง แลที่ทำเช่นนั้นก็เพื่อสินจ้างที่ได้พระราชทาน แลนอกจากเวลาอยู่ยามนั้น จะดื่มแลกินก็ดี นั่งนอนเดินยืนก็ดี จะได้ลืมหน้าที่เป็นผู้เฝ้ารักษาพระราชานั้นหามิได้ การที่ทำเช่นนั้นก็ชอบด้วยธรรมเนียม เพราะถ้าชายคนหนึ่งขายชายอีกคนหนึ่ง ชายคนที่สองเป็นผู้ถูกขาย แต่ถ้าข้าเข้าไปรับใช้นายก็คือข้าขายตัวเอง แลเมื่อชายใดเป็นข้าต้องอาศัยผู้อื่นแล้วความสุขจะมีกระไรได้ ธรรมดาคนจะมีปัญญาฉลาดเฉลียวแลมีความรู้ปานใดก็ตาม ถ้ามีนายแลอยู่ต่อหน้านาย ก็ย่อมจะนิ่งเหมือนคนใบ้ แลมีความสะทกสะท้านอยู่เป็นปกติ ต่อเมื่ออยู่พ้นหน้านายไปจึงจะค่อยผ่อนกายได้บ้าง เหตุดังนั้นปราชญ์ผู้มีปัญญาย่อมกล่าวว่า การรับใช้ให้ถูกต้องทุกประการนั้น ยากยิ่งกว่าฝึกฝนความรู้ในทางธรรม

            คืนหนึ่งพระราชาตื่นบรรทมขึ้น ได้ยินเสียงหญิงโหยไห้คร่ำครวญอยู่ในป่าช้าที่ใกล้พระราชวัง พระราชาตรัสถามว่าใครอยู่ยาม วีรพลทูลตอบตามเคย จึงรับสั่งว่า "เจ้าจงไปดูว่ามีหญิงมาร้องไห้คร่ำครวญอยู่ทำไม เมื่อได้ความแล้วจงรีบกลับมาโดยเร็ว" วีรพลได้ฟังรับสั่งดังนั้นก็รีบไปทำตาม

            ฝ่ายพระราชา ครั้นวีรพลไปแล้ว ก็ทรงเครื่องดำคลุมพระองค์รีบตามวีรพลไป เพื่อจะทอดพระเนตรความกล้าของชายผู้นั้น อีกครู่หนึ่ง วีรพลไปถึงป่าช้าได้เห็นหญิงงามผู้หนึ่งฉวีเหลืองอ่อน ประดับกายด้วยเพชรพลอยตั้งแต่ศีรษะถึงเท้า มือหนึ่งถือเขา มือหนึ่งถือสร้อยคอ ประเดี๋ยวก็ย่างเท้าเต้นไปมา ประเดี๋ยวก็โดด ประเดี๋ยวก็วิ่งไปรอบๆ ประเดี๋ยวก็ทอดตัวลงพาดบนดิน เอามือตีศีรษะตนเอง ร้องไห้คร่ำครวญ แต่จะหาน้ำตามิได้
            วีรพลเห็นดังนั้น ไม่ทราบว่านางคือนางฟ้าผู้เกิดจากเกษียรสมุทรแลเป็นที่รักของชาวฟ้าทั่วไป จึงถามว่า "นางคือใคร มาตีตัวร้องไห้คร่ำครวญเช่นนี้เพราะทุกข์อันใด" นางตอบว่า "ข้าคือราชลักษมี" วีรพลถามว่าเหตุใดนางจึงโศกฉะนี้เล่า
            นางจึงกล่าวชี้แจงให้วีรพลฟังว่า ในพระราชวังแห่งพระราชานั้น มีผู้กระทำการลามกอย่างที่กระทำกันเป็นปกติในหมู่ชนซึ่งเป็นศูทรมีวรรณะต่ำ เหตุฉะนั้นความเสื่อมจะมีมาสู่พระราชฐาน อันเป็นที่ซึ่งนางเคยอยู่มา แลจะต้องละทิ้งไปในบัดนี้ อีกประมาณเดือนหนึ่งพระราชาจะประชวรหนักถึงสิ้นพระชนม์ นางมีความเสียใจจึงร้องไห้ นางอยู่มาในราชสำนักได้นำความสุขมาให้มาก เหตุดังนั้นจึงเสียใจหนัก ที่ทราบว่าคำทำนายของนางจะไม่เป็นไปจริงมิได้เลย

            วีรพลถามว่า "ภัยที่นางกล่าวนี้ จะหาทางป้องกันเพื่อรักษาชีวิตพระราชาไว้ให้ยั่งยืนร้อยปีไม่ได้หรือ" นางตอบว่า "ทางป้องกันมีอยู่ที่อาจทำได้ คือ ตั้งแต่นี้ไป ทางตะวันออกไกลประมาณ ๓ โกรศ มีศาลพระเทวีศาลหนึ่ง ถ้าท่านตัดศีรษะบุตรของท่านด้วยมือท่านเอง นำถวายเป็นเครื่องบูชาพระเทวี พระราชาจะทรงพระชนมายุยืนยาวไปชั่วกาลนาน จะมีภัยอันใดมาพ้องพานนั้นหาไม่"
            นางราชลักษมีกล่าวเช่นนั้นแล้วก็อันตรธานหายไป ฝ่ายวีรพลเมื่อได้รับความรู้เช่นนี้แล้ว ก็มิได้กล่าวประการใด หันกลับรีบเดินไปสู่บ้านแห่งตน พระราชาก็ทรงพระดำเนินลอบตามไปมิให้วีรพลรู้ตัว ได้ทอดพระเนตรกิริยาแลทรงฟังคำพูด ทราบแจ้งในพระหฤทัยทุกประการ

            ฝ่ายวีรพลเมื่อออกจากป่าช้าแล้วก็รีบเดินไปปลุกภริยาขึ้นเล่าความให้ฟังทุกประการ กล่าวความประพฤติระหว่างสามีกับภริยา ปราชญ์ผู้เป็นกวีโบราณแสดงไว้ว่า

            o นางใดฟังสามี เชื่อถือดีด้วยวาจา
            อีกทั้งกิริยา โอนอ่อนรับเพราะนับถือ
            o นางนั้นได้ชื่อว่า ภริยาที่ดีคือ
            เกียรติ์เฟื่องเลื่องบรรลือ ได้ชื่อว่าชายจริงฯ

            ดังนี้เมื่อนางได้ฟังถ้อยคำสามีแล้วก็รีบปลุกลูกชายขึ้น ฝ่ายลูกหญิงเมื่อได้ยินปลุกพี่ชายก็พลอยตื่นขึ้นด้วย วีรพลก็พาเมียแลลูกเดินไปสู่ศาลพระเทวี
            เมื่อเดินไปตามทางวีรพลกล่าวแก่เมียว่า "ถ้าเจ้ายินยอมให้ลูกชายของเจ้าโดยเต็มใจ ข้าผู้เป็นสามีจะทำลายชีวิตเด็กนั้นถวายเป็นเครื่องบูชาพระเทวี เพื่อความยืนพระชนม์แห่งพระราชาผู้เป็นเจ้าของเรา"
            นางตอบว่า "พ่อแลแม่ บุตรแลธิดา พี่น้องแลวงศ์ญาติทั้งปวงในเวลานี้นับว่าข้าพเจ้าไม่มีเสียแล้ว ข้าพเจ้ามีท่านผู้เดียวเป็นผู้แทนพ่อแม่ลูกแลพี่น้อง คัมภีรศาสตร์ย่อมกล่าวว่า ภริยานั้นจะบริสุทธิ์ด้วยทำทานแก่นักบวช หรือด้วยกระทำการบูชายัญก็หาไม่ นางใดปฏิบัติสามีด้วยดี นางนั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ครองธรรม แม้สามีจะเป็นผู้ง่อยเปลี้ยเสียขา เป็นผู้เสียมือ หรือใบ้ หูหนวก ตาบอดตาเดียว เป็นกุดถังหรือหลังค่อม ภริยาก็จำต้องปฏิบัติด้วยดีทั้งนั้น คำโบราณกล่าวความจริงไว้ว่า

            O ใครมีบุตรว่าง่ายกายปราศจากไข้ มีหทัยเสาะหาวิชาขลัง
            ทั้งมีเพื่อนฉลาดเฉลียวช่วยเหนี่ยวรั้ง มีเมียฟังถ้อยคำประจำใจ
            ผู้นั้นดีมีบุญอาจจุนค้ำ โลกให้จำเริญสุขปลดทุกข์ได้
            ชนทั้งหลายคลายร้อนหย่อนแยงภัย เพราะเขาให้ความสุขปราศจากทุกข์เจียวฯ
            O อนึ่งบ่าวเกียจคร้านการรับใช้ พระราชาเป็นใหญ่ใจขี้เหนียว
            อีกเพื่อนใจไม่จริงพิงข้างเดียว เมียเด็ดเดี่ยวไม่ฟังคำบังคับ
            ทั้งสี่นี้ปลดสุขพาทุกข์สู่ เหมือนศัตรูเข้ามาเวลาหลับ
            จักป้องกันฉันใดไม่ระงับ เหลือจักรับจักรบจักหลบลี้ฯ"

            นางกล่าวแก่สามีดังนี้แล้ว ก็หันไปกล่าวแก่บุตรว่า "ลูกเอย ถ้าเรายอมสละหัวของเจ้าเป็นเครื่องบูชาพระเทวี ชีวิตแห่งพระราชาจะรอดได้ แลบ้านเมืองจะดำรงสุขสืบไป"
            ลูกชายได้ฟังแม่กล่าวดังนั้น แม้ยังอ่อนอายุ ยังกล่าวตอบดังซึ่งเราท่านไม่น่าจะเชื่อว่าเด็กพูดได้ แต่พึงระลึกว่าในสมัยโน้น แม้แต่นกแก้วนกขุนทองยังพูดสันสกฤตได้คล่องดีกว่าท่านแลข้าพเจ้าเหลือจะพรรณนา เด็กคนนั้นเป็นคนแล้วมิหนำซ้ำกล่าวกันว่าเป็นเด็กฉลาดนักด้วย เหตุดังนั้นการที่พูดเพียงเท่านี้ไม่ประหลาดอะไร ถ้าประหลาดก็ประหลาดด้วยพูดน้อยไปเสียอีก

            ลูกชายกล่าวว่า "ข้าแต่นางผู้เป็นมารดา ข้าพเจ้าเห็นว่าเราจะรีบเร่งให้การอันนี้เป็นไปโดยเร็ว เพราะเหตุว่า ประการที่ ๑ ข้าพเจ้าผู้บุตรจำต้องเชื่อฟังคำสั่งของมารดา ประการที่ ๒ ข้าพเจ้าจำต้องยังความเจริญให้มีแก่พระราชาผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า ประการที่ ๓ ถ้าชีวิตแลร่างกายของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์แก่พระเทวี ก็ไม่มีทางใดที่ข้าพเจ้าจะใช้ชีวิตแลร่างกายของข้าพเจ้าให้ดียิ่งไปได้"

            เวตาลเล่ามาถึงเพียงนี้ จึงกล่าวแก่พระราชาวิกรมาทิตย์ว่าพระองค์จงประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า ที่ได้นำเอาคำพูดคนเหล่านั้นมากล่าวยืดยาว เด็กเล็กๆ ซึ่งกำลังจะถูกเชือดคอนั้น พูดจาราวกับอาจารย์ธรรมศาสตร์ ฟังอยู่ค่อนข้างจะแปลกสักหน่อย

            เวตาลเล่าเรื่องต่อไปว่า เมื่อเด็กได้กล่าวแก่มารดาแล้วก็เหลียวไปกล่าวแก่บิดาว่า "ข้าแต่ท่านบิดา ผู้ใดได้กระทำการเป็นคุณประโยชน์แก่นายของตน ชีวิตของผู้นั้นนับว่าไม่เปลืองไปเปล่า แลเพราะเหตุที่ได้ใช้ชีวิตในทางที่เกิดประโยชน์ ผู้นั้นก็คงจะได้รับรางวัลในโลกหน้าๆ ต่อไป"

            ฝ่ายลูกหญิง เมื่อได้ยินบิดามารดาแลพี่ชายพูดกันมาเพียงนี้ก็กล่าวสอดขึ้นบ้างว่า " ถ้ามารดาวางยาพิษให้ลูกหญิงกลืน ถ้าบิดาขายลูกชายของตน ถ้าพระราชายึดถือเอาหลักทรัพย์สมบัติทั้งปวงของประชาราษฎร์ไปเป็นประโยชน์แก่พระองค์เอง ดังนี้ใครจะได้อะไรเป็นที่พึ่งพำนักเล่า "

            ลูกหญิงพูดดังนี้ไม่มีใครฟัง คนทั้งสี่ก็พากันเดินไปจนถึงศาลพระเทวี พระราชาก็เสด็จด้อมตามไปจนตลอดทาง อีกครู่หนึ่งไปถึงศาลพระเทวี เป็นเรือนห้องเดียวมีชาลารอบ ข้างหน้ามีเรือนหลังใหญ่ซึ่งคนอาจเข้าไปนั่งได้หลายร้อยคน หน้าเทวรูปนองไปด้วยเลือดอันไหลจากสัตว์มีชีวิต ซึ่งมีผู้ได้ฆ่าเพื่อการบูชาในศาลนี้ เทวรูปนั้นดำใหญ่ มีกร ๑๐ กร หัตถ์ขวาหัตถ์หนึ่งถือหอกแทงอสูรชื่อมหิษ หัตถ์ซ้ายหัตถ์หนึ่งถือหางงูแลผมแห่งมหิษ แลงูนั้นกัดหน้าอกอสูร กรอื่นๆ ถืออาวุธต่างๆ เงื้อง่าอยู่เหนือพระเศียร แลที่ข้างบาทนั้นมีสิงห์ยืนพิงอยู่ตัวหนึ่ง

            ฝ่ายวีรพลเมื่อไปถึงศาล ก็พนมมือนมัสการแลกล่าวคำวิงวอนพระเทวีว่า "ข้าแต่พระเทวีเป็นเจ้า ข้าพเจ้าจะประหารชีวิตลูกชายถวายเป็นเครื่องบูชาพระองค์ ขอพระองค์จงอำนวยให้พระราชาทรงชนมายุยืนยาวไปจวบพันปีเถิด โอ้พระมารดา พระองค์จงทำลายศัตรูของพระราชาเสียเถิด จงทรงฆ่าแลทำให้ศัตรูเหล่านั้นเป็นเถ้าถ่านไปให้สิ้น หรือไล่มันไปเสียให้สิ้น พระองค์จงตัดมันทั้งหลายให้เป็นท่อนแลเสวยเลือดมัน พระองค์จงล้างแลทำลายมันเสียด้วยวัชระ ด้วยโตมร ด้วยขรรค์ ด้วยจักร ด้วยบาศอันเป็นอาวุธของพระองค์"

            วีรพลกล่าวดังนั้นแล้ว ก็บอกให้ลูกชายคุกเข่าลงตรงหน้าเทวรูปแล้วฟันด้วยดาบถูกคอขาด หัวกระเด็นไปกลิ้งอยู่บนพื้นชาลาแล้วโยนดาบขว้างไปไกลตัว ฝ่ายลูกหญิงเมื่อเห็นพี่ชายคอขาดกระเด็นไปดังนั้น ก็วิ่งเข้าไปฉวยเอาดาบเชือดคอตนเองสิ้นไปชีวิตลงไปอีกคนหนึ่ง นางผู้เป็นมารดาเห็นลูกชายแลลูกหญิงสิ้นชีวิตลงไปดังนั้น เหลือที่จะสะกดใจไว้ได้ ก็วิ่งไปหยิบดาบฟันคอตนเองตายลงไปอีกเป็น ๓ ศพด้วยกัน

            ฝ่ายวีรพลเมื่อเห็นดังนั้น จึงกล่าวแก่ตนว่า "ลูกเราก็ตายหมดแล้ว กูจะอยู่รับใช้พระราชาไปทำไมเล่า เมื่อได้ทองคำเป็นรางวัลจากพระราชาก็ไม่มีลูกจะรับช่วงต่อไปอีกแล้ว" คิดดังนี้ วีรพลก็เอาดาบฟันคอตนเองล้มลงขาดใจตาย

            ฝ่ายท้าวรูปเสนพระราชาทรงแอบดู ทอดพระเนตรเห็นหัว ๔ หัว ขาดจากตัว ๔ ตัว กลิ้งอยู่หน้าศาลดังนั้น ก็ทรงสลดพระหฤทัย ทรงคำนึงว่า "พ่อแม่ลูกทั้ง ๔ นี้ได้สละชีวิตไปแล้วเพื่อประโยชน์แก่เรา โลกนี้กว้างใหญ่ก็จริง แต่หาคนที่ซื่อสัตย์กล้าหาญถึงเพียงนี้หาไม่ได้ ใครบ้างจะสละชีวิตเช่นนี้เพื่อสนองคุณพระราชา แต่มิได้บอกกล่าวโอ้อวดให้ใครทราบเลย อำนาจแลความเป็นพระราชาของเรานี้ ถ้าจะยั่งยืนอยู่ได้ด้วยต้องทำลายชีวิตคนถึงปานนี้ ก็สิ้นความสำราญแลเป็นบาป มิได้ผิดอะไรกับถูกแช่ง เราคงจะครองราชัยไปก็หายุติธรรมมิได้"

            พระราชาทรงดำริเช่นนี้แล้ว ก็ทรงหยิบดาบขึ้นจะประหารชีวิตพระองค์เอง แต่เทวรูปพระเทวีทรงยึดพระหัตถ์ไว้ รับสั่งห้ามมิให้พระราชาประหารพระองค์เอง แลให้ทรงขอพรแล้วแต่พระประสงค์ ฝ่ายท้าวรูปเสนเมื่อพระเทวีตรัสให้ขอพรดังนั้น ก็ทูลขอให้ประทานคืนชีวิตวีรพลแลลูกเมีย ในพริบตาเดียว พระเทวีก็ทรงได้น้ำอมฤตจากบาดล ทรงพรมศพทั้งสี่ศพนั้น หัวกับตัวก็กลับมาติดกัน คืนชีวิตขึ้นมาทั้งสี่คน

            ท้าวรูปเสนก็ตรัสให้คนทั้งสี่เดินตามเสด็จกลับพระราชวัง อยู่มาไม่ช้า ท้าวรูปเสนก็แบ่งราชสมบัติประทานให้วีรพลครอบครองตามสมควร

            เวตาลเล่ามาเพียงนี้ก็หยุดอยู่ครู่หนึ่ง แล้วทูลพระวิกรมาทิตย์ว่า " ข้าซึ่งไม่เสียดายชีวิตตนเอง ในการรักษาชีวิตเจ้านั้นเป็นข้าที่มีความสุข แลเจ้าซึ่งอาจตัดรกรากแห่งความใคร่เป็นใคร่อยู่ แลความจำเริญในราชสมบัติได้นั้นเป็นเจ้าซึ่งมีความสุข ๓ เท่า
            ดูกรพระราชา ข้าพเจ้าขอทูลถามพระองค์สักข้อหนึ่งว่า บรรดาคนทั้งห้านั้น คนไหนจะโง่ที่สุด"

            พระวิกรมาทิตย์ได้ทรงฟังก็แสดงอาการพิโรธ เพราะความถูกพระหฤทัยในเรื่องความซื่อต่อหน้าที่ ในเรื่องความรักกันในเหล่าบุตรแลสามีภรรยา ในเรื่องผู้น้อยฟังคำผู้ใหญ่ ในเรื่องคนมีใจใหญ่แลใจมั่นคงเหล่านั้นกลับกระจัดกระจายไปหมดเพราะเวตาลกลับกล่าวว่าเป็นความโง่เสียแล้ว แลเพราะเหตุที่กริ้วดังนั้นจึงรับสั่งด้วยสำเนียงโกรธว่า

            "อ้ายผี ถ้าคำที่เอ็งกล่าวว่าคนไหนโง่ที่สุดนั้นหมายความว่า คนไหนมีน้ำใจควรเป็นที่นับถือที่สุด กูจะตอบได้ทันทีว่าคือท้าวรูปเสนผู้เป็นพระราชา"

            เวตาลถามว่า "เหตุไรจึงทรงเห็นอย่างนั้น" พระวิกรมาทิตย์ตรัสว่า "เอ็งเป็นผีปัญญาตัน ไม่อาจเข้าใจได้ วีรพลนั้นมีหน้าที่จะสละชีวิตของตนให้แก่เจ้า ซึ่งมีกรุณาให้ลาภถึงเพียงนั้น บุตรชายของวีรพลจะขืนคำบิดานั้นไม่ได้เป็นอันขาด แลส่วนหญิงเมื่อใครฆ่ากันที่ไหนให้เห็นเป็นตัวอย่างก็ต้องฆ่าตัวเองเป็นธรรมดาตามนิสัยผู้หญิง แต่ท้าวรูปเสนนั้นทรงสละราชัยของพระองค์เพื่อประโยชน์แก่วีรพลผู้เป็นข้า แลไม่ตีราคาชีวิตของพระองค์ แลราชสมบัติซึ่งเป็นของชวนให้อยากมีชีวิต ยิ่งกว่าราคาท่อนฟางท่อนหนึ่งเลย เหตุดังนั้นกูจึงเห็นว่าการที่พระราชาทรงกระทำนั้น เป็นบุญแลควรสรรเสริญยิ่งกว่าผู้อื่น"

            เวตาลหัวเราะตอบว่า "ดูกรพระราชา แม้พระองค์มีแขนแลขาอย่างหนุมาน พระองค์ก็จะต้องเบื่อปีนต้นไม้สูงโน้นบ้างดอกกระมัง" พูดเท่านั้นแล้ว เวตาลก็ออกจากย่ามลอยหัวเราะก้องฟ้าคืนไปห้อยอยู่ยังต้นอโศกตามเดิม พระวิกรมาทิตย์กับพระราชบุตร ก็หันพระพักตร์ทรงดำเนินกลับไปต้นอโศกอีกครั้งหนึ่ง

Fusion KM Social Network

Total Pageviews / สถิติผู้เข้าชมเว็บ