Pages

Thursday, January 23, 2014

นิทานเวตาล เรื่องที่ 6 : พราหมณ์เกศวะ กับ บุตรเขย 3 คน

                   ครั้นพระวิกรมาทิตย์เสด็จกลับถึงต้นอโศก ทรงปีนขึ้นไปปลดเวตาลลงมามัดลงย่ามตามเคย แลทรงพาพระราชบุตรออกเดินไปหน่อยหนึ่ง เวตาลก็เล่าเรื่องที่กล่าวว่าเป็นเรื่องจริงอีกเรื่องหนึ่งดังนี้

                  เหนือฝั่งอันงามแห่งแม่น้ำยมุนา มีกรุงชื่อ ธรรมสถล ในกรุงธรรมสถลมีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ เกศวะ เป็นคนมีบุญ ปกติเป็นผู้ทำตบะแลบูชายัญ ณ ฝั่งแม่น้ำ เทวรูปที่ใช้บูชาก็ปั้นเองด้วยดินเหนียว หาเที่ยวซื้อจากผู้ทำขายไม่
                   พราหมณ์ผู้นี้เป็นผู้มีความรู้เมื่ออายุมาก เมื่อยังเด็กเป็นผู้ไม่มีเพียรในทางเล่าเรียน ใช้เวลาเมื่อยังเป็นหนุ่มในการบูชากามเทพแลนางรตี มิใคร่สร่างความมัวเมาในกาม เป็นเหตุบิดามารดามีเรื่องร้อนใจบ่อยๆ


                   วันหนึ่งเกศวะกระทำผิดให้เป็นเครื่องขุ่นใจบิดามารดาเป็นข้อใหญ่ บิดามารดาจึงติเตียนกล่าวแสดงโทษแห่งความประพฤติของบุตรอย่างรุนแรง เกศวะแค้นใจก็หลบหนีออกจากหมู่บ้านของตนไปจนเข้าละแวกอื่น พบต้นไม้ใหญ่ก็ขึ้นไปซ่อนตัวอยู่บนต้นไม้ใหญ่ แลใต้ต้นไม้นั้นมีเทวรูป ปัญจานน คือ รูปพระอิศวร ๕ พักตร์ คนทั้งหลายในละแวกนั้นนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก เทวรูปนั้นมีผู้เฝ้าระวังรักษาเพื่อการหากินของเขา แต่เวลานั้นเผอิญผู้เฝ้าไม่อยู่ เกศวะอยู่บนต้นไม้เห็นเทวรูปตั้งอยู่ข้างล่างก็เกิดความคิดลามก จึงถ่ายปัสสาวะรดลงมาบนเทวรูป แล้วลงจากต้นไม้ผลักเทวรูปกลิ้งตกลงในสระซึ่งอยู่ข้างหน้านั้น
                   รุ่งเช้าผู้เฝ้าเทวรูปไปถึงที่ต้นไม้ ไม่พบเทวรูปซึ่งเคยเป็นเครื่องหากินของตนก็เดือดร้อน ตีโพยตีพายกลับไปบ้าน แลประกาศให้ฝูงชนทราบ ไม่ช้าชาวบ้านก็ออกเกรียวกราวช่วยกันออกตามเทวรูปที่หายแลโจษจันแซ่ไปในหมู่บ้าน ในขณะนั้นบิดามารดาของเกศวะเที่ยวตามหาบุตรที่หลบหายไป ครั้นไปถามหาคนหนุ่มซึ่งมีลักษณะอย่างนั้น ๆ ก็มีคนกล่าวว่าจำได้ว่า เมื่อวันก่อนมีคนหนุ่มเช่นที่ว่าไปนั่งอยู่บนต้นไม้อันเป็นที่สำนักของเทวรูปปัญจานน รุ่งขึ้นก็ทราบกันว่าเทวรูปหายไป
                   ต่อมาไม่นานเกศวะกลับเข้ามาในหมู่บ้าน ชาวบ้านทั้งหลายพากันชี้เป็นนิ้วเดียวกันว่า คนนี้คงจะขโมยเทวรูป เกศวะเห็นจะปฏิเสธไม่ไหวก็รับเป็นสัตย์แลชี้ให้ค้นในสระซึ่งทิ้งเทวรูปลงไว้ ทั้งบอกคนเหล่านั้นว่าได้ถ่ายปัสสาวะรดเสียแล้ว คนทั้งหลายได้ฟังดังนั้นก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เกศวะกระทำบาปมีโทษใหญ่หลวง มนุษย์ไม่จำต้องลงโทษ เพราะพระปัญจานนคงจะลงโทษถึงสิ้นชีวิตทันทีไม่ต้องสงสัยเลย

                   เกศวะได้ทราบว่าพระผู้เป็นเจ้าจะลงโทษถึงดังนั้นก็ตกใจกลัวเป็นกำลัง กลับเป็นคนว่าง่ายสอนง่าย เชื่อถ้อยมารดาตั้งแต่นั้นมา แลพากเพียรเรียนรู้จนได้ชื่อว่าเป็นผู้มีวิชายิ่งยวดในชนบท มีคำกล่าวว่าชะรอยจะเป็นเพราะเกศวะกลับตัวได้ในทันที พระปัญจานนจึงไม่ประหารชีวิต เพราะกรรมที่กระทำบนต้นไม้ครั้งนั้น
                   ตั้งแต่เกศวะกลับตัวได้แล้ว ก็จำเริญในวิชาสามารถทุกประการจนมีเหย้าเรือนเป็นหลักแหล่ง ภายหลังมีบุตรชื่อ มธุมาลตี เป็นหญิงงามนัก มีคำถามว่าเทวดาได้สิ่งใดมาจากไหน จึงปั้นหน้าคนได้งามถึงเท่านั้น ได้แบ่งเอาภาคอันงามที่สุดในพระจันทร์มาหรือ จึงทำให้มีรอยแหว่งซึ่งคนอาจเห็นได้ในดวงเดือน นางมธุมาลตีมีตาเหมือนนิโลตบลซึ่งบานเต็มที่ มีแขนเหมือนก้านบัว มีผมยาวห้อยเหมือนความมืดแห่งกลางคืน

                   ครั้นนางงามผู้มีอายุสมควรวิวาหะ มารดาบิดาแลพี่ชายก็ช่วยกันเป็นทุกข์ด้วยการหาคู่ เพราะปราชญ์ย่อมกล่าวว่า
                   "ลูกหญิงซึ่งมีอายุควรมีคู่ไม่มีคู่ ย่อมเป็นเช่นก้อนอุบาทว์ห้อยอยู่เหนือหลังคาเรือน" แล "พระราชา ๑ หญิง ๑ ไม้เลื้อย ๑ ย่อมรักที่จะดูแลสิ่งที่อยู่ใกล้" แล "ใครบ้างไม่เคยได้ทุกข์เพราะหญิง เหตุว่าหญิงนั้น ผู้ใดจะบังคับให้อยู่ในถ้อยคำก็บังคับไม่ได้ แม้จะบังคับด้วยให้ของที่ชอบใจ หรือบังคับด้วยความกรุณาหรือบังคับด้วยนิติธรรม หรือบังคับด้วยการลงโทษ ก็บังคับไม่ได้ทั้งนั้น เพราะหญิงไม่รู้จักผิดแลชอบ"

                   วันหนึ่งพราหมณ์เกศวะไปจากบ้าน เพื่อช่วยการแต่งงานบุตรของพราหมณ์ไปบ้านอุปัชฌาย์เพื่อการศึกษา
                   แลในระหว่างที่บิดาแลบุตรไม่อยู่บ้านนั้น มีชายคนหนึ่งมาที่บ้านของพราหมณ์ นางพราหมณีภริยาเกศวะเข้าใจว่าชายคนนั้นเป็นคนมีคุณดี เพราะเหตุมีรูปงามจึงบอกยกลูกสาวให้ ฝ่ายพราหมณ์เกศวะนั้นไปพบพราหมณ์หนุ่มคนหนึ่งเป็นที่ชอบใจ ก็บอกยกลูกสาวให้ แลส่วนบุตรชายนั้นไปพบชายเพื่อนเรียนคนหนึ่งที่บ้านอุปัชฌาย์ ก็ยกน้องสาวให้เหมือนกัน

                   ต่อนั้นมาบิดาแลบุตรก็พาชายหนุ่มคนละคนมายังบ้านตน ครั้นถึงบ้านพบชายหนุ่มอีกคนหนึ่งที่นางพราหมณียกลูกสาวให้ ชายหนุ่มทั้ง ๓ คน นั้นเสมอกันในวิชา ในคุณดี ในรูป แลในอายุ จึงเกิดปัญหายุ่งยากขึ้นในทันที
                   ชายทั้งสามต่างคนร้องทุกข์ คนหนึ่งว่ามาถึงเรือนก่อน คนหนึ่งว่าบิดานางเป็นผู้ยกให้ แลบิดาย่อมเป็นใหญ่ในครอบครัว อีกคนหนึ่งร้องทุกข์ว่ากระไรไม่มีใครจำได้ ปรากฏแต่ว่าตัวเป็นคนที่ควรได้นางเท่านั้น คนทั้งสามร้องขอความเป็นธรรม แลความเป็นธรรมตามความเห็นของชายหนุ่มคนหนึ่งๆ ก็คือให้นางแก่ตัวจึงเป็นอันกล่าวได้ว่าธรรมะในเวลานั้นแยกได้เป็นสามแพร่ง เพราะชายหนุ่มสามคน

                   ฝ่ายพราหมณ์เกศวะผู้บิดาครั้นเกิดเหตุเช่นนี้ ก็รำพึงว่า "เจ้าสาวคนเดียว เจ้าหนุ่มสามคนเช่นนี้จะทำอย่างไรหนอ จะยกให้คนไหน จะไม่ยกให้สองคนสองคนไหนจึงจะถูกต้องตามธรรมนิยม เราผู้บิดามารดาแลพี่ชายก็ให้คำตกลงแก่เขาทั้งสามแล้วคนละคน เหตุประหลาดเผอิญเป็นไปเช่นนี้ จะทำอย่างไรดี"
                   พราหมณ์เกศวะอ้ำอึ้งอยู่ช้านาน ไม่ตกลงในใจว่ากระไร หารือกับภริยาแลบุตรก็ไม่ได้ประโยชน์เพราะคนทั้ง ๒ ก็ไม่รู้จะว่ากระไรเหมือนกัน

                   ส่วนชายหนุ่มทั้ง ๓ คนนั้น เมื่อบิดานางยังไม่ตัดสินว่ากระไรก็พากันนั่งนิ่งดูเดือนเพ็ญ คือหน้าแห่งนางจนไม่กระพริบตา ดูประหนึ่งจะประพฤติตัวเป็น จโกระ คือนกซึ่งกล่าวกันว่ากินแสงจันทร์เป็นอาหาร

                   พราหมณ์เกศวะตรึกตรองอยู่ช้านาน นึกว่าเห็นช่องที่พอจะแก้ปัญหาได้จึงกล่าวแก่ชายทั้งสามว่า จะต้องตัดสินด้วยวิธีให้สำแดงความรู้ประชันกัน ใครยกเอาภาษิตซึ่งกวีผู้มีเกียรติแต่งไว้แต่โบราณมากล่าวให้ดีกว่าคนอื่น คนนั้นจะได้รับรางวัลคือลูกสาวพราหมณ์

                   ชายหนุ่มคนที่ ๑ ได้ยินดังนั้นกล่าวภาษิตของกวีโบราณโดยที่ไม่ต้องตรึกตรองว่า

    O ชายหาญเห็นได้เมื่อ        สงคราม นั้นเนอ
    ความซื่อส่อถนัดยาม           ส่งหนี้
    เห็นมิตรคิดเห็นความ          จริงเมื่อ
    ทุกข์แล เมียสัตย์ชัดชื่อชี้     เมื่อไข้ไร้สินฯ


                  ชายหนุ่มคนที่ ๒ ยกภาษิตขึ้นกล่าวว่า

    O หญิงใด
    (๑) อยู่ในเหย้าแห่งพ่อก็จริงอยู่แหล่ แต่มิฟังบังคับ
    (๒) มีกำชับใจตัวมัวแต่เที่ยวรื่นเริงเชิงสนุกทุกเบื้อง
    (๓) ปลดเปลื้องผ้าคลุมหน้าต่อหน้าชาย
    (๔) หลับราวตายมิวายง่วง
    (๕) ดื่มเหล้าล่วงลำคอ
    (๖) พอใจอยู่หากจากสามี
    สตรีนั้นปราศจากธรรมนำจิตชอบประกอบด้วยใจบาปหยาบยิ่ง จริงแลฯ

                  ชายหนุ่มคนที่ ๓ กล่าวภาษิตซึ่งอ้างว่าเป็นของโบราณว่า

    O ใครจะไว้ใจอะไรตามใจเถิด
    แต่อย่าเกิดไว้ใจในสิ่งห้า
    หนึ่งอย่าไว้ใจทะเลทุกเวลา
    สองสัตว์เขี้ยวเล็บงาอย่าวางใจ
    สามผู้ถืออาวุธสุดจักร้าย
    สี่ผู้หญิงทั้งหลายอย่ากรายใกล้
    ห้ามหากษัตริย์ทรงฉัตรชัย
    ถ้าแม้นใครประมาทอาจตายเอย ฯ

                  พราหมณ์เกศวะได้ฟังดังชายหนุ่มสามคนท่องภาษิตซึ่งกล่าวว่าเป็นของโบราณก็จับใจแกทั้งหมด ไม่รู้ว่าชอบภาษิตไหนมากกว่าอีกสองภาษิต ก็ทำให้อ้ำอึ้งไปอีก คราวนี้ไม่ใช่ตรึกตรองว่าควรยกลูกสาวให้ชายคนไหน ตรึกตรองว่าควรยกให้ภาษิตบทไหน เป็นเรื่องนึกถึงคำพูด ไม่ใช่นึกถึงคน จึงลังเลไปอีกทางหนึ่ง

                   ขณะนั้นมีงูพิษตัวหนึ่งมาตัดปัญหาที่มีในใจพราหมณ์เกศวะ พราหมณ์ยังตรึกตรองรวนเรในใจ พองูเลื้อยเข้ามากัดลูกสาวตาย คนทั้งหกก็ร้องไห้ตีโพยตีพายเพราะทุกข์สามัญ
                   ครั้นได้สติก็วิ่งตามหมอแลแม่มดรวมทั้งคนฉลาดทั้งปวง ที่ประกาศตัวว่าเรียกพิษงูออกจากกายผู้ถูกกัดได้ คนเหล่านั้นเมื่อได้มาพบศพนางมธุมาลตี แล้วต่างคนก็สั่นศีรษะ คนหนึ่งกล่าวว่า คนที่ถูกงูกัด ๕ ค่ำ ๖ ค่ำ ๘ ค่ำ ๙ ค่ำ แล ๑๔ ค่ำ นั้นไม่มีรอด อีกคนหนึ่งกล่าวว่า คนที่ถูกงูกัดวันเสาร์แลวันอังคารต้องตายเสมอ คนที่ ๓ กล่าวว่า คนที่ถูกงูกัดจะตายหรือไม่ก็แล้วแต่ว่าพระจันทร์สถิตราศีไหนในเวลาที่ถูกกัด คนที่ ๔ กล่าวว่าผู้ใดถูกงูกัดที่ตา หู ลิ้น จมูก ริมฝีปากล่าง แก้ม คอ แลท้อง คนนั้นต้องตาย คนที่ ๕ กล่าวว่า แม้พระพรหมก็ไม่อาจแก้นางนี้ให้คืนชีวิตได้

                   ครั้นหมอทั้งหลายกลับไปหมดแล้ว พราหมณ์เกศวะก็จัดการเผาศพลูกสาวแล้วกลับบ้าน ฝ่ายชายหนุ่มสามคนนั้นกล่าวแก่กันว่า
                   "เราทั้ง ๓ คนหัวอกอันเดียวกัน ได้ทุกข์อย่างเดียวกัน ซึ่งเกิดเพราะเหตุเดียวกัน เราจะต้องเที่ยวไปหาความสุขที่อื่น แลในการหาความสุขไม่มีทางใดดีกว่าทางที่พระอินทร์ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์กล่าวไว้คือ

    o ชายใดไม่เที่ยว        เทียวไป
    ทุกแคว้นแดนไพร       มิอาจประสบพบสุข
    o ชายใดอยู่เหย้า        เนาทุกข์
    ไม่ด้นซนซุก              ก็ชื่อว่าชั่วมัวเมา

    o จงจรเที่ยว              เทียวบทไป
    พงพนไพร                 ไศละลำเนา
    o ดั้นบถเดิน               เพลินจิตเรา
    แบ่งทุกเบา                เชาวนะไวฯ

    o ชายหาญชาญเชี่ยว    เทียวไพร
    สองขาพาไป               บ่มัวบ่เมาเขลาขลาด
    o ขาเขาคือกิ่ง             พฤกษชาติ
    ช่อชูดูดาษ                 และดกด้วยดอกออกระดะ
    o ไป่ช้าเป็นผล            ปนคละ
    โต ๆ โอชะ                 รสาภิรสหมดมวล
    o โทษหลายกลายแก้    แปรปรวน
    เจือจุนคุณควร             เพราะเหตุที่เที่ยวเทียวเดิน

    o จงจรเที่ยว               เทียวบทไป
    พงพนไพร                 ไศละดำเนิน
    o ดุ่มบถด่วน               ชวนจิตเพลิน
    ใดบ่มิเกิน                   เชิญบทจร ฯ
    o เชิญคะนึง                พระทินกร
    ฤาหลับฤานอน            ธเดินและด้นบนสวรรค์
    o เธอมีความสุข           ทุกวัน
    หมื่นกัปแสนกัลป์          บ่อ่อนบ่เปลี้ยเพลียองค์
    o จงจรเที่ยว               เทียวบทไป
    ตั้งจิตใน                    ไพรพนพง
    o ดูทินกร                   จรจิรยง
    แสนสุขทรง                ทุกขะบ่มี ฯ

                  ชายหนุ่มทั้งสามตกลงใจว่าจะออกเที่ยวด้นดั้นไปตามบุญตามกรรม ดังนี้แล้วชายคนที่ ๑ ก็เก็บกระดูกแห่งนางรวมเข้าเป็นห่อขึ้นห้อยบ่า แล้วประพฤติตัว เป็นไวเศษิก ถือศีลเว้นบาปใหญ่ทั้ง ๘ อย่าง คือ กินกลางคืน ๑ ฆ่าชีวิต ๑ กินผลไม้เกิดบนต้นยางหรือกินฟักทอง หรือหน่อไม้ไผ่ ๑ กินน้ำผึ้งหรือเนื้อสัตว์ ๑ ลักทรัพย์ของผู้อื่น ๑ ข่มขืนหญิงมีสามี ๑ กินดอกไม้หรือเนยเหลวหรือเนยแข็ง ๑ บูชาเทวดาในศาสนาอื่น ๑ ส่วนการปฏิบัติด้วยดี
                   ชายผู้เป็นไวเศษิกย่อมตั้งใจมั่นว่าการไม่ทำร้ายคนแลสัตว์อื่นเป็นทางเว้นที่ชอบ แม้ผู้ทำความผิดก็ไม่ควรเอาชีวิต อนึ่งศีลทั้ง ๕ คือไม่กล่าวเท็จ ไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ขโมย ไม่ดื่มน้ำเมา ไม่มีภริยา นั้นต้องถือมั่นเป็นนิตย์ ทรัพย์ทั้งหลายจะมีไม่ได้ เว้นแต่ผ้าพันกาย ผ้าเช็ดปาก ภาชนะสำหรับรับทานคืออาหาร แลแส้สำหรับกวาดดิน ด้วยเกรงจะเหยียบสิ่งมีชีวิตเท่านั้น
                   อนึ่งอาจารย์ไวเศษิกสอนให้ศิษย์ไม่ไว้ใจในทางที่นอกลัทธิของตน ให้กลัวความทุกข์ในภพหน้า ให้รับทานจากผู้อื่นไม่เกินที่จะพอเป็นอาหารชั่ววันเดียว ไม่กินอาหารที่เกี่ยวกับชีวิตสัตว์แลให้ทำคุณต่อคนทั้งหลาย
                   ชายหนุ่มคนที่ ๑ เมื่อเป็นไวเศษิกแล้วฉะนี้ก็เพียรจะลืมความรักที่เคยมี เพียรจะลืมนางที่หนีตายไป กล่าวแก่ตัวเองว่า
                   "ที่เราได้เคยนึกว่า หญิงอาจให้ความสุขได้นั้นไม่ใช่เหตุอื่น เป็นด้วยความทะนงแลความนึกถึงตัวเองฝ่ายเดียว เราได้เคยคิดว่า ริมฝีปากของนางเหมือนผลไม้สุก อกเหมือนบัวตูม พระจันทร์ย่อมจะซีดเพราะเพียรจะเอาอย่างแสงหน้าแห่งนาง ฯลฯ เช่นนี้ก็เพราะหลง บัดนี้ใจเราออกหากจากโลกไปแล้ว ถ้าเราได้เห็นนางอีก เราก็คงจะกล่าวว่านี่หรือรูปที่ชายหลงใหล สิ่งนี้ไม่ใช่อื่นไกลคือตะกร้าซึ่งมีหนังหุ้มภายนอก ข้างในคือกระดูกเลือดเนื้อแลสิ่งโสโครกทั้งหลายเท่านั้น ธรรมดาคนหลงเมื่อเห็นสิ่งประกอบขึ้นด้วยของสกปรกก็เรียกว่าหน้า แลพิศชมดูดดื่มราวกับคนขี้เมากินเหล้า เราไม่ควรยินดียินร้าย ในร่างกายอันเต็มไปด้วยเลือดแลเนื้อ หน้าที่เราคือเข้าหาพระผู้เป็นเจ้า ผู้เป็นต้นเหตุแห่งสังขาร เลิกเอาใจใส่ในสิ่งทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความสำราญหรือเร่าร้อน"

                   ชายหนุ่มคนที่ ๒ นั้น กวาดเอาเถ้าถ่านที่เผาศพนางรวมกันเป็นห่อแล้วก็ออกพาเข้าป่า ทำตัวเป็น วานปรัสถ์ ตามบัญญัติของพระมนู แม้อายุยังไม่สมควรก็ทำจนได้
                   พระมนูบัญญัติไว้ในธรรมศาสตร์ว่า เมื่อชายผู้เป็นพ่อบ้าน รู้สึกว่ากล้ามเนื้อของตนอ่อนเทิบทาบ ผมก็หงอก แลทั้งได้เห็นลูกแห่งลูกของตนก็ถึงเวลาที่ควรออกป่า ให้พาเอาไฟสำหรับบูชา (อัคนีโหตร) ของตนกับเครื่องใช้ในการบูชาไฟไปด้วยกับตน แลเมื่อถึงป่าที่สงัดแล้วก็ให้อยู่สำรวมอินทรีย์ในที่นั้น ให้กินของสะอาดซึ่งเป็นอาหารฤาษี คือมูลผลาหารต่างๆ แลให้กระทำการบูชาทั้ง ๕ คือ (๑) สอนพระเวท (บูชาพระเวท) (๒) เซ่นด้วยขนมแลน้ำ (บูชาบิดร) (๓) เผาของในไฟ (บูชาเทวดา) (๔) ให้อาหารเป็นทาน (บูชาสัตว์ทั้งหลาย) (๕) ต้อนรับแขก (บูชาคน) แลให้นุ่งหนังหรือเปลือกไม้ ให้อาบน้ำเช้าเย็น ให้ผมแลหนวดเล็บงอกไม่มีกำหนด ให้นอนกลิ้งเกลือกไปมาบนแผ่นดิน หรือยืนเขย่งบนนิ้วหัวแม่เท้าตลอดวัน หน้าร้อนให้ผิงไฟ ๕ กอง คือไฟล้อมตัว ๔ กอง ไฟบนหัวคือพระอาทิตย์กองหนึ่ง หน้าฝนให้ตากฝน หน้าหนาวให้ใช้ผ้าเปียก แลทรมานตัวอย่างอื่นๆ อีกมาก

                   ชายหนุ่มคนที่ ๓ นั้นบวชเป็นโยคีเที่ยวเร่ร่อนไปในที่ต่างๆ แลปฏิบัติตนตามควรแก่โยคีทุกประการ
                   วันหนึ่งโยคีไปถึงบ้านแห่งหนึ่ง ก็แวะเข้าไปเพื่อจะขออาหาร ชายเจ้าของบ้าน ครั้นเห็นโยคีก็ต้อนรับเป็นอันดี แลเชิญให้รับเลี้ยงอาหารในบ้าน ครั้นเตรียมอาหารพร้อมเสร็จ เจ้าของบ้านก็เชิญโยคีไปยังที่กินอาหาร แลเมื่อได้ล้างมือล้างเท้าแล้ว ก็กล่าวแก่โยคีว่า
                   "ธรรมดาเจ้าของบ้านจะขับให้แขกที่มาถึงในตอนเย็นไปพ้นบ้านนั้นทำไม่ได้ แขกมาถึงเพราะพระอาทิตย์ที่กลับจากทางเดินนั้นเป็นผู้ให้มา และแม้จะมาตามควรแก่ฤดูหรือมิควรก็ดี เจ้าของบ้านจะให้เข้าพักอยู่ในบ้านโดยที่มิเลี้ยงดูนั้นมิได้ ข้าพเจ้าไม่อาจกินอาหารอันอร่อยได้ก่อนที่ได้เชิญแขกให้กิน เพราะการเลี้ยงแขกให้อิ่มหนำสำราญนั้นย่อมนำทรัพย์ นำเกียรติ นำความมีอายุยืนมาสู่เจ้าของบ้าน แลทั้งเตรียมที่ในสวรรค์ไว้ให้ด้วย"
                   เจ้าของบ้านกล่าวดังนี้แล้ว ภริยาก็นำอาหารมาเลี้ยง คือข้าวแลถั่วกับน้ำมันแลเครื่องเทศต่างๆ ซึ่งผสมกันหุงในหม้อเหนือไฟซึ่งใช้ฟืนอันสะอาด
                   ครั้นเลี้ยงอาหารได้ครึ่งหนึ่งยังไม่สำเร็จการกิน ภริยาเจ้าของบ้านจะยกอาหารมาเพิ่มเติม ทารกผู้เป็นบุตรร้องไห้ด้วยเสียงอันดังแล้วเข้ายึดผ้ามารดาไว้ ไม่ให้ยกอาหารไปตั้ง มารดาจะห้ามก็ไม่หยุดยิ่งร้องแลยิ่งยึดผ้าดึงไว้ มารดาขัดใจก็วางเครื่องเลี้ยงลงแล้วจับตัวลูกโยนเข้าไปในกองไฟ ทารกก็ไหม้เป็นจุณไป

                   ฝ่ายโยคีเมื่อเห็นดังนั้นก็ลุกขึ้นจากที่นั่ง เจ้าของบ้านจึงถามว่า
                   "เหตุใดอาจารย์จึงไม่กินเล่า" โยคีตอบว่า "ข้าพเจ้าเป็นแขกมารับเลี้ยงของท่าน แต่ข้าพเจ้าไม่อาจกินอาหารได้ในที่เลี้ยงของคนที่ประพฤติราวกับรากษส คำโบราณย่อมกล่าวว่า คนที่สำรวมความยินดียินร้ายไม่ได้นั้น มีชีวิตป่วยการเปล่า"
                   "แลพระราชาโง่ ๑ ผู้เย่อหยิ่งเพราะมีทรัพย์มาก ๑ เด็กอ่อนแอ ๑ ทั้งสามนี้ประสงค์สิ่งใดไม่อาจได้มาดังประสงค์" "
                   แล พระราชาย่อมทำลายศัตรูแม้เมื่อกำลังหนี ช้างแม้เพียงกระทบ แลงูแม้เพียงหายใจรด ก็ย่อมนำมาซึ่งความตาย คนใจบาปแม้กำลังหัวเราะก็อาจทำลายผู้อื่นได ้"

                   ฝ่ายเจ้าของบ้านเมื่อได้ยินดังนี้ก็ยิ้ม แล้วลุกไปหยิบสมุดเล่มหนึ่งมาจากที่ซึ่งซ่อนไว้คือบนขื่อ สมุดนั้นคือตำราสังชีวนีวิทยา คือวิชาชุบคนตายให้คืนชีวิต
                   ครั้นหยิบหนังสือลงมาแล้ว ชายเจ้าของหนังสือก็กางตำราออกทำพิธีชุบลูกให้คืนเป็น ไม่ช้าเด็กก็กลับมาร้องไห้เสียงดังอยู่อย่างเก่า
                   ชายผู้เป็นบิดาจึงกล่าวว่า "บรรดาของมีค่าทั้งหลายจะหาสิ่งใดมีค่าเกินวิชานั้นหาได้ไม่ ทรัพย์อื่นๆ อาจถูกขโมยลัก หรือลดน้อยลงไปด้วยการจับจ่าย แต่วิชานั้นไม่มีความตายแลยิ่งจ่ายมากก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น วิชานี้จะแบ่งให้แก่ใครให้เปลืองไปก็ไม่ได้ แลขโมยจะลักก็ลักไม่ได้"

                   ฝ่ายโยคีเมื่อได้เห็นอัศจรรย์ดังนั้น ก็นึกในใจว่า "ถ้าเราได้สมุดเล่มนี้ เราก็อาจชุบนางผู้เป็นที่รักของเราให้คืนชีวิตมาดังเก่า แล้วเราจะเลิกประพฤติอย่างไม่สบายต่างๆ ดังซึ่งเราทำอยู่เดี๋ยวนี้"
                   โยคีตรึกตรองดังนี้แล้วก็กลับนั่งลงกินอาหารแลค้างอยู่ในเรือนนั้น ครั้นเวลากลางคืนเมื่อได้เลี้ยงกันอีกมื้อหนึ่งแล้ว ต่างคนก็ไปยังที่นอนของตน โยคีนอนแล้วระวังตัวไม่ยอมให้หลับ จนเวลาเที่ยงคืน เห็นว่าคนทั้งหลายคงจะหลับสนิทแน่แล้ว โยคีก็ลุกขึ้นย่องเข้าไปในห้องนอนเจ้าของบ้าน ลักหยิบเอาสมุดตำราสังชีวนีลงมาจากขื่อได้แล้วก็ลอบออกจากบ้านหนีไปในเวลากลางคืน รีบเดินตรงไปยังป่าช้าที่เผาศพนางผู้เป็นที่รัก เผอิญพบชายหนุ่มอีกสองคนกลับมาอยู่ในที่เดียวกัน ต่างคนต่างเล่าความเป็นไปแห่งตนแลตนสู่กันฟังอยู่ ครั้นชายทั้งสองนั้นเห็นโยคีก็จำได้จึงร้องทักขึ้นว่า
                   "ท่านเอย ท่านได้ไปเที่ยวในโลกแล้วได้ความรู้อันใดซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เราทั้งสามบ้างหรือเปล่า" ชายผู้เป็นโยคีตอบว่า
                   "ข้าพเจ้าได้เรียนวิชาชุบคนตายให้คืนชีวิตได้" ชายสองคนตอบว่า
                   "ถ้าท่านมีวิชาเช่นนั้น ท่านจงชุบนางผู้เป็นที่รักของเราให้คืนชีวิตมาเถิด"

                   ชายผู้เป็นโยคีก็จัดการตั้งพิธีชุบนาง เริ่มการร่ายมนตร์ ซึ่งทำให้ฟ้าแลอากาศเต็มไปด้วยสิ่งซึ่งน่าหวาดเสียว คือภูตผีมีร่างกายเป็นที่พึงแสยง สำแดงอาการให้เห็นปรากฏต่างๆ ทั้งตลบไปด้วยเสียงไม่พึงฟัง คือเสียงหมาหอน เสียงนกฮูกแลสัตว์อื่นๆ ชายทั้งสามก็แทงตัวเองให้เลือดตกเป็นเครื่องบูชานางจัณฑี แล้วกล่าวสรรเสริญว่า
                   "ข้าแต่พระแม่ผู้เป็นเจ้าแห่งสากลโลก พระองค์เป็นผู้กระทำความสำเร็จให้เกิดตามความประสงค์ของชนทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอถวายเลือดจากกายของข้าพเจ้าเป็นเครื่องบูชาพระองค์ ขอพระองค์จงโปรดอนุกูลข้าพเจ้า"

                   ชายทั้งสามกล่าวอย่างข้างบนแล้วก็เชือดเนื้อเผาไฟบูชาอีกชั้นหนึ่ง แล้วกล่าวว่า
                   "ข้าแต่พระเทวี ขอพระองค์จงโปรดให้นางผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้าคืนชีวิตมาเถิด ขอพระองค์จงโปรดกรุณาข้าพเจ้าตามส่วนแห่งความจงรัก ซึ่งเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าถวายเนื้อของตนเป็นเครื่องบูชานั้นเถิด ข้าพเจ้าขอถวายนมัสการพระองค์ด้วยความนับถือแท้จริง โอม"

                   เมื่อได้กล่าวสรรเสริญแลบูชานางจัณฑีด้วยเลือดแลเนื้อของตนดังนั้นแล้ว ชายทั้งสามก็ช่วยกันรวมเถ้าแลอัฐิแห่งนางซึ่งชายคนที่ ๑ แลคนที่ ๒ ได้เก็บรักษาไว้นั้นให้เป็นกองเดียวกัน ชายคนที่ ๓ ผู้เป็นเจ้าของตำราก็ร่ายมนตร์จนเกิดไอสีขาวขึ้นมาจากดิน แล้วเกิดเป็นรูปลอยอยู่ แล้วเกิดความดูด ดูดเอาเถ้าแลอัฐิซึ่งกองอยู่นั้นเข้าไปในรูป อีกครู่หนึ่งก็เกิดเป็นนางมธุมาลตีชีวิตคืนมาอย่างเดิม แลนางขอให้ชายทั้งสามพาไปส่งยังเรือนบิดา

                   ฝ่ายชายทั้งสามเมื่อนางคืนชีวิตแล้ว ก็วิวาทแย่งชิงนาง ต่างคนกล่าวว่าตนควรจะได้นางเป็นภริยาโดยความชอบธรรม
                   ชายคนที่ ๑ กล่าวว่านางคืนชีวิตมาได้ก็เพราะกระดูกที่เขาได้รักษาไว้ ชายคนที่ ๒ กล่าวว่าเพราะเถ้าถ่านต่างหาก ชายคนที่ ๓ หัวเราะเยาะคนทั้งสองว่ากระดูแลเถ้าถ่าน ถ้าไม่ได้ตั้งพิธีแลร่ายมนตร์ตามตำราจะมีชีวิตมาอย่างไรได้

                   ชายทั้งสามทุ่มเถียงกัน ไม่มีใครยอมใคร จึงพากันไปหาบัณฑิตผู้ปราดเปรื่องให้ตัดสินก็ไม่มีใครตัดสินได้ ส่วนพระราชานั้น ใครบ้างนึกว่าจะได้ปัญญาจากพระราชา ใครบ้างไปหาพระราชาในขณะที่ต้องการพบผู้เฉลียวฉลาด ส่วนตัวข้าพเจ้า (เวตาล) นี้ พิศวงว่า พระองค์ผู้ทรงนามวิกรมาทิตย์เป็นพระราชาผู้ประกอบด้วยปัญญายิ่งมหากษัตริย์ทั้งปวง พระองค์จะตัดสินได้บ้างกระมังว่า นางนั้นควรเป็นของชายคนไหนโดยทางที่ชอบ

                   พระวิกรมาทิตย์กำลังขุ่นพระหฤทัยในข้อที่เวตาลกล่าวดูหมิ่นปัญญาพระราชาทั้งปวง ครั้นเวตาลทูลให้ตัดสินก็ตรัสออกมาว่า
                   "เอ็งมันโง่ ไม่รู้จักอะไร ชายคนที่ ๒ สิควรได้นางเป็นภริยา"
                   เวตาลถามว่า "เพราะเหตุใดจึงทรงตัดสินอย่างนั้น"
                   ตรัสตอบว่า "เพราะเขาเป็นผู้เก็บเถ้าถ่านไว้"
                   เวตาลกล่าวว่า "ถ้าชายคนที่ ๑ ไม่ได้เก็บกระดูกไว้บริบูรณ์ นางจะคืนชีวิตมาอย่างไรได้ และชายคนที่ ๓ ไม่ได้เรียนวิชาสังชีวนีรู้ร่ายมนตร์ แลตั้งพิธีถูกต้องตามตำรา การชุบนางก็ไม่อาจทำได้ ชายคนที่ ๒ เก็บไว้แต่เถ้าถ่าน จะได้เปรียบชาย ๒ คนอย่างไรไม่เห็นเหตุ แต่พระราชาปัญญาลึกล้ำเห็นจะทรงอธิบายได้ดอกกระมัง"

                   พระราชาทรงตวาดว่า "เอ็งโง่แล้วยังดื้อด้วย ชายคนที่ ๑ นั้นเก็บกระดูกของนางรักษาไว้ จึงอยู่ในตำแหน่งเสมอลูก ไม่ควรได้นางเป็นภริยา ชายคนที่ ๓ ได้ชุบนางให้คืนชีวิตคือให้ชีวิตแก่นางจึงอยู่ในตำแหน่งบิดา ไม่ควรได้นางเป็นภรรยา ส่วนชายคนที่ ๒ นั้นเป็นแต่เพียงเก็บเถ้าถ่านไว้ จึงควรได้เป็นผัวนาง คำอธิบายเช่นนี้จะทะลุความโง่ของเอ็งเข้าไป ทำให้เอ็งเข้าใจได้หรือยัง"
                   เวตาลตอบว่า "ความโง่ของข้าพเจ้าทะลุแล้ว แต่ของพระองค์นั้นยัง จึงเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าได้กลับไปแขวนตัวอยู่ยังต้นอโศกในบัดนี้"

                   ครั้นเวตาลหัวเราะก้องฟ้าลอยไปแล้ว พระวิกรมาทิตย์กับพระราชบุตรก็เสด็จกลับไปยังต้นอโศก พระราชาทรงปีนขึ้นไปปลดเวตาลมาใส่ย่ามก็ทรงรำพึงว่า
                   "ถ้าเรานั่งลงวางอ้ายตัวนี้ไว้กับดินให้มันพูดไปจนสิ้นฤทธิ์ของมัน บางทีจะสำเร็จได้ เมื่อเราเดินพลาง คิดพลางนั้นคงจะเหนื่อยเกินไปจนทำให้เสียทีมันร่ำไป"

                   ทรงคิดดังนี้ก็เอาย่ามวางลงยังพื้นดิน ทรงนั่งลงข้างๆ แล้วเอาเชือกผูกย่ามล่ามกับผ้ารัดสะเอวแน่นหนา รับสั่งให้พระราชบุตรทำอย่างเดียวกัน เวตาลรู้ดังนั้นก็ร้องทุกข์ว่า ผิดระเบียบสัญญา พระราชาทรงตอบว่า สัญญาไม่ได้กล่าวว่าเดินหรือนั่ง เวตาลสาบานว่าจะไม่อ้าปากพูดอะไรอีกจนคำเดียว แต่ไม่ช้าก็อดไม่ได้ เอ่ยเล่าเรื่องขึ้นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งกล่าวว่าเป็นเรื่องจริงตามเคย